ปัญหาและอุปสรรคของการออกกำลังกายในคนอ้วน
1. ปัญหาทางด้านแรงจูงใจและความร่วมมือของผู้ป่วย
เป็นปัญหาใหญ่และเป็นเหตุให้เกิดความล้มเหลวในด้านการรักษาสูง
ในความคิดของคนทั่วไปเมื่อพูดถึงการออกกำลังกายจะถือว่าเป็นของยุ่งยาก กระทำได้ยาก
ไม่มีเวลาพอ หรือออกกำลังกายแล้วเหนื่อย
แม้จะรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายหรือมีประสบการณ์มาแล้วด้วยตนเอง
โดยพบว่าตนเองมีสุภาพดีขึ้นภายหลังจากที่ได้ออยกกำลังกายสม่ำเสมอ
แต่ในที่สุดก็มักจะเลิกราตามระยะเวลาที่ผ่านไป ปัญหาในเรื่องแรงจูงใจ เวลา และ
ความสม่ำเสมอในการออกกำลังกายนั้นถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคอ้วน
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมายอันได้แก่ผู้ป่วยอ้วนวัยกลางคนที่มักจะติดภารกิจการงานต่างๆมากมายกระทั่วไม่สามารถแบ่งเวลามาได้
ทั้งนี้เนื่องจากโปรแกรมการออกกลังกายภายหลบังการออกกำลังกายที่จะมีผลในการควบคุมน้ำหนักนั้นต้องใช้เวลาครั้งละ
1 ชั่วโมงเป็นจำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์
ซึ่งเมื่อรวมกับเวลาที่ต้องเสียงไปในการเดินทาง การเปลี่ยนเสื้อผ้า
การชะล้างร่างกายหลังออกกำลังกายและอื่นๆอีกประมาณ 1 ชั่วโมง
ก็นับเป็นการสิ้นเปลืองเวลาพอสมควร
เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถเช้าร่วมโปรแกรมได้อย่างสม่ำเสมอ
ในกรณีเช่นนี้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นโปรแกรมการออกกำลังกายง่ายๆที่ผู้ป่วยสามารถนำไปปฏิบัติเองได้ในที่ทำงานหรือที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางก็น่าจะเหมาะสมกว่า
แม้ประสิทธิภาพจะลดน้อยถอยลงบ้างก็ตาม
2. ปัญหาทางสุขภาพ
ควรประเมินสุขภาพก่อนเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อความปลอดภัยระหว่างออกกำลังกาย
โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ทำการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
เช่น ตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ ถ่ายภาพรังสีปอด
และวัดสมรรถภาพปอด
เนื่องจากคนอ้วนมักจะเสี่ยงต่อการมีโรคหรือภาวะที่เป็นข้อห้ามในการออกกำลังกายอยู่หลายอย่าง
เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
ความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานที่ยังไม่ได้รับการรักษา
รวมถึงยาบางชนิดที่ผู้ป่วยใช้อยู่เป็นประจำก็มีความสำคัญและอาจต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมก่อนเริ่มเข้าโปรแกรม
เช่นผู้ป่วยเบาหวานทีใช้ insulin อยู่
อาจต้องได้รับการปรับขนาดและวิธีการใช้ใหม่เพื่อไม่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณออกกำลังกาย
หรือผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทีได้รับการรักษาด้วย beta blockers อยู่
อาจต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้เหมาะสมเนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้อาจต้องประเมินสมรรถภาพทางหัวใจและหลอดเลือด สมรรถภาพปอด
และความพร้อมทางร่างกายว่าจะออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใดโดยการทำ exercise
test ก่อนจัดโปรแกรมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป
ปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อ
กระดูกและข้อน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บการการออกกำลังกายง่ายจากการที่มีน้ำหนักตัวมาก
แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในระหว่างออกกำลังกาย
มีการอบอุ่นร่างกายที่เหมาะสม มีการผ่อนคลายก่อนหยุดออกกำลังกาย
เลือกประเภทการออกกำลังกายได้เหมาะสม มีการใช้อุปกรณ์ช่วย หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสม
ก็จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บลงได้
แต่เหตุการณ์มักจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามมากกว่า
กล่าวคือคนอ้วนมักจะมีอุปนิสัยที่เฉื่อยชาอยู่แล้ว
ไม่ค่อยเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนแม้กระทั่งจะขยับตัวเพื่อประกอบกิจวัตรประจำวันก็ตาม
และยิ่งในรายที่อ้วนมากๆด้วยแล้วอาจถึงกับกินและนอนอยู่กับที่ทั้งวัน
ประเภทของการออกกำลังกายที่เหมาะสมในคนอ้วน
เนื่องจากข้อจำกัดทางกายวิภาคและสรีรวิทยาของคนอ้วน
จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแนะนำให้คนอ้วนออกกำลังกายชนิดเดียวกันกับที่คนทั่วไปนิยมไม่ว่าจะเป็น วิ่งเหยาะๆ เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน
หรือเล่นเกมส์ที่ใช้ลูกบอล และยังก่อให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก โปรแกรมที่ใช้ในผู้ป่วยอ้วนมักเป็นการออกกำลังกายในลักษณะที่เพิ่มความหนักขึ้นช้าๆ
(progressive intensity exercise programs) เพื่อให้ร่างกายมีเวลเพียงพอในการปรับตัวก่อนที่จะเข้าสู่โปรแกรมการออกกำลังกายตามปกติ
ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน 1-2 เดือนหรือจะมากกว่านั้นก็ได้
ไม่ควรใช้โปรแกรมแบบหักโหมขณะที่สภาพร่างกายยังไม่เคยชิน ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุภาพแล้วยังอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความท้อแท้และหมดกำลังใจเลิกราไปเสียก่อนเมื่อปฏิบัติไม่ได้ตามที่กำหนด
ในรายที่อ้วนมากๆอาจเริ่มต้นด้วยกายบริหารว่ายๆที่ทำได้ทั้งในท่านั่งหรือท่านอนหรือยืนอยู่กับที่
เช่น การยกแขน ยกขา แกว่งแขน บิดตัวไปมาหรือบริหารร่างกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ (stretching
exercise) กระทั่งผู่ป่วยเกิดความเคยชิน
จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความหนัก (intensity) และเวลา (duration) ขึ้นที่ละน้อยกระทั่งเข้าสู่โปรแกรมตามปกติ
จะใช้การออกกำลังกายประเภทใดก็ให้พิจารณาตามสมรรถภาพทางกาย ความพร้อม ความชอบ
และความสะดวกของผู้ป่วย เช่น ให้เดินเร็วๆบนสายพานหมุน ปั่นจักรยานอยู่กับที่
หรือเล่นเกมส์ที่ต้องใช้ผู้เล่นเป็นทีมเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและเข้าสังคมได้ดีขึ้น
หรือถ้าหากสถานที่อำนวย การออกกำลังกายในน้ำ เช่น เดินในน้ำ วิ่งในน้ำ
หรือว่ายน้ำก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนอ้วน
เพราะน้ำจะช่วยพยุตัวผู้ป่วยไว้ ลดแรงกระแทกที่ข้อต่อ
ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตามปัญหาของการออกกำลังกายในน้ำในคนอ้วนมัจะไม่ได้อยู่ที่ว่ายน้ำเป็นหรือไม่
แต่อยู่ทีผู้ป่วยมักจะอาจไม่กล้าสวมชุดว่ายน้ำมากกว่า แต่สำหรับรายที่ว่ายน้ำเป็นก็อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างคือจะไม่สามารถใช้สมรรภาพทางกายอย่างเต็มที่ในการออกกำลังกาย
เนื่องจากไขมันที่พอกอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกายจะทำหน้ที่เสมือนทุ่นที่พยุงให้คนอ้วนลอยน้ำ
คล้ายกับได้สวมชูชีพว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา ในคนอ้วนที่เป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงเบ่ง
เช่น การยกน้ำหนัก (weight lifting) หรือหวดแรงๆ เช่น
การตีเทนนิส เพราะจะทำให้โรคเลวลงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ในรายที่ไม่มีข้อห้ามอาจให้ยกน้ำหนักได้เบาๆ
เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร่วมกับการออกกำลังกายชนิดแอโรบิกดังที่กล่าวมาแล้ว
ข้อควรพิจารณา
1.
คนอ้วนมักจะอาย ขาดความมั่นใจในการออกกำลังกาย
และมีแนวโน้มที่จะแยกตัวจากสังคมอยู่แล้ว
โปรแกรมการออกกำลังกายควรกระทำไปในทิศทางตรงกันข้ามคือจะต้องกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยมีการอยู่ร่วมกับหมู่คณะมากขึ้น
พยายามอย่าให้ผู้ป่วยแยกตัวออกจากกลุ่ม
จัดโปรแกรมที่เหมาะสมและเป็นไปได้ให้กับผู้ป่วย
เพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น
2.
ควรจัดให้มีชุดการออกกำลังกายที่เหมาะสม
เน้นการักษาสุขลักษณะส่วนตัว รักษาความสะอาดของร่างกายภายหลังออกกำลังกาย
จัดรองเท้าให้เหมาะสมซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยกว่าปกติเพราะจะสึกเร็ว เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม
3.
คนอ้วนจะมีปัญหาในเรื่องการระบายความร้อนออกจากร่างกายและขาดน้ำได้ง่าย
จึงควรแนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการออกกำลังกาย
4.
การปรับเปลี่ยนโปรแกรมการออกกำลังกายจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ว่าจะเป็นความหนักหรือระยะเวลาในการออกกำลังกาย
เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ เช่น บริเวณต้นขา หน้าท้อง หรือ ท้องแขน
ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายได้ เช่น ผิวหนังส่วนเกินอาจแกว่งไปมาขณะวิ่ง
กรณีเช่นนี้อาจต้องพันไว้ด้วยผ้ายืดเพื่อให้แนบไว้กับตัว
หรือถ้าผิวหนังหย่อนยานมากอาจต้องใช้ศัลกรรมตัดผิวหนังส่วนเกินออก
สรุป
การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาโรคอ้วนที่ควรใช้ควบคู่ไปกับการจำกัดอาหาร
ถึงแม้ว่าจะไม่หวังผลในแง่การลดน้ำหนักหรือไขมันส่วนเกินมากนัก
แต่มีประโยชน์ต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
สามารถลดความรุนแรงของโรคต่างๆที่พบได้บ่อยในคนอ้วน
มีผลดีทางจิตใจและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม
โปรแกรมการออกกำลังกายควรจัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย
ความพร้อม ความชอบ และความสะดวกของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
พร้อมให้คำแนะนำเฝ้าระวังและติดตามการรักษาอย่างเหมาะสม
เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจและสามารถดำเนินโปรแกรมด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
อ้างอิง : รัตนวดี
ณ นคร. โรคทั่วไปที่เป็นปัญหาในการออกกำลังกาย. ใน: วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม, บก.
กีฬาเวชศาสตร์. กรุงเทพฯ : พี.บี. บุคส์ เซนเตอร์, 2537 : 177
–98
Parizkova
J and Hainer V. Exercise in growing and adult obese
individuals. In Torg JS, Welsh RP, and Shephard RJ, eds. Current therapy in sport medicine-2. B.C. Philadelphia: Decker Inc., 1990: 22-26
รูปภาพ : http://www.proflexy.com/en/blog/3535/blog-3535
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น